เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 นี้ คณาจารย์ผู้สอนวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ 4 ได้นำนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ ไปทัศนศึกษาที่ พิพิธภัณฑ์ไม้ไผ่ ต.บางเจ้าฉ่า อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง โดยมี กำนันสุรินทร์ นิลเลิศ ให้การต้อนรับ และถ่ายทอดความรู้ด้านภูมิปัญญาเครื่องจักสานของบางเจ้าฉ่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
กำนันฯ เล่าว่า ปัจจุบัน ไม้ไผ่ที่ใช้สาน เป็นไม้ไผ่นวล ซึ่งนำมาจากจังหวัดทางภาคตะวันออก เช่น จันทบุรี และตราด ซึ่งมีคุณสมบัติที่ให้ความอ่อนตัว เป็นลำที่ยาว จึงเหมาะนำมาใช้สาน ส่วนไม่ไผ่ในท้องถิ่น เป็นไม้ไผ่สีสุก มีลำปล้องที่สั้นและแข็งแรง เหมาะสำหรับนำมาทำเป็นโครงสร้างผลิตภัณฑ์ ส่วนหวายที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในงานสานนั้น นำเข้าจากพม่า เพราะสำหรับประเทศไทย กำหนดให้หวายเป็นพืชสงวนมานานแล้ว
การไปทัศนศึกษาครั้งนี้ ได้มีกิจกรรมให้นักศึกษาเรียนรู้ และปฏิบัติงานสานไม้ไผ่จากคุณป้า คุณยาย ที่มีความเชี่ยวชาญ ทำให้นักศึกษาเข้าใจในงานสานไม้ไผ่มากขึ้น
ขากลับ แวะนมัสการพระนอนวัดขุนอินทประมูล ซึ่งนับเป็นพระนอนหรือพระพุทธไสยาสน์ที่ยาวเป็นอันดับที่สอง รองจากวัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร จ.สิงห์บุรี
และแวะวัดม่วง ซึ่งเป็นวัดที่มีกลีบบัวล้อมรอบพระอุโบสถ เข้าใจว่าน่าจะเป็นกลีบบัวที่ใหญ่และจำนวนมากที่สุดในโลก ลองเคาะดูตามธรรมชาติของสายงานออกแบบผลิตภัณฑ์ สรุปเบื้องต้นว่าเป็นกลีบบัวที่ผลิตจากไฟเบอร์กล๊าส ภายในวัดมีรูปปั้นที่แสดงถึงแดนนรก สวรรค์ คล้ายๆ ที่วัดไผ่โรงวัว จ.สุพรรณฯ ที่โดดเด่น คือ มีพระพุทธรูปมหานวมินทร์ศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "หลวงพ่อใหญ่" ซึ่งนับเป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ได้ไปเรียนรู้นอกห้องเรียน ไปทำบุญ ไหว้พระ ก่อนเข้าพรรษา
ทุกคนก็อิ่มเอิบใจกลับมา